การขายสินค้าไม่จำเป็นต้องขายหน้าร้านอีกต่อไป เพราะคนยุคใหม่คุ้นชินกับการช็อปปิงออนไลน์ ดังนั้น หากเราปรับเปลี่ยนช่องทางในการขาย โดยใช้แพลตฟอร์มในโลกออนไลน์มาเป็นหน้าร้านให้กับเรา โอกาสในการขายแค่หลักร้อย ก็สามารถเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านคนได้เลยทีเดียว
แพลตฟอร์มหรือช่องทางการตลาดออนไลน์แต่ละประเภทนั้นมีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น “เฟซบุ๊ก” มีหลายรูปแบบที่เราสามารถใช้บริการได้ฟรี เช่น การสร้าง “เพจร้านค้า หรือ เพจเฟซบุ๊ก” เพื่อโพสต์ขายสินค้า โพสต์เล่าเรื่องเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และสามารถฝากร้าน หรือฝากขายสินค้าตาม “กลุ่มเฟซบุ๊ก หรือ เฟซบุ๊กกรุ๊ป” ต่างๆ ซึ่งมีหลายกลุ่มที่เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้าไปโพสต์ขายสินค้าได้โดยไม่เสียค่าสมาชิก และมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งอาหาร ของใช้ งานฝีมือ เพียงแต่เลือกฝากร้านให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม เช่น หากเราเข้ากลุ่มของกินจังหวัดลำพูน ก็ควรนำสินค้าประเภทอาหารไปโพสต์ขาย ไม่ควรนำสินค้าประเภทงานหัตถกรรมไปฝากร้าน เป็นต้น
“อินสตาแกรม” เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายที่เน้นโพสต์ภาพสวยงาม จึงเหมาะกับสินค้าที่เน้นให้เห็นลวดลาย สินค้าที่เน้นให้เห็นพื้นผิวของวัสดุ เป็นการเล่าเรื่องราวผ่านรูปถ่าย ที่เพียงแค่เห็นภาพก็ทำให้เกิดความสนใจในสินค้า แล้วเกิดการพูดคุยเพื่อถามรายละเอียดต่อไป
“ไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคานต์” ต่างจากไลน์ทั่วไปที่ใช้พูดคุยตรงที่ ไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคานต์สามารถ “บรอดแคสต์” หรือการกระจายข้อความสื่อสารกับลูกค้าหรือสมาชิกได้ทั่วถึงพร้อมกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้า การบอกข้อมูลโปรโมชั่น โดยช่องทางนี้เหมาะกับร้านค้าที่ต้อการความเป็นทางการ เป็นเครือข่าย รัฐวิสาหกิจชุมชน
“ยูทูบ” ช่องทางการขายสินค้าที่สามารถนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอได้อย่างไม่จำกัดระยะเวลา ต่างจากเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมที่ให้โพสต์วิดีโอได้ในรูปแบบคลิปสั้นๆ ดังนั้น ยูทูบจึงเหมาะสำหรับสินค้าที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่มีรายละเอียด ต้องการสื่อให้ถึงขั้นตอน เช่น วิธีการผลิต ขั้นตอนการดูแลรักษา ความพิถีพิถันในการผลิต สำหรับสินค้าที่นิยมนำเสนอเรื่องราวผ่านยูทูบ เช่น สินค้าเกษตร อาหาร งานฝีมือ
สำหรับใครที่คิดว่าสามารถเล่าเรื่องราวของสินค้าในชิ้นเดียวได้หลากหลายรูปแบบ ก็สามารถโพสต์ขายหรือโพสต์เรื่องเล่านั้นผ่านหลายช่องทาง หรือเลือกเฉพาะบางแพลตฟอร์มก็ได้ เพียงแต่ต้องปรับรูปแบบการโพสต์ให้เหมาะกับลักษณะของแต่ละแพลตฟอร์มด้วย เช่น ขายไข่เค็ม เมื่อโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก อาจเล่าเรื่องสั้นๆ พร้อมภาพประกอบ และเมื่อขายไข่เค็มสูตรเดียวกันนี้ แต่โพสต์ขายในอินสตาแกรม เลือกเพียงภาพเดียวที่สื่อถึงความน่ากินของไข่แดงที่สีแดงสดและลูกใหญ่ โดยผ่าครึ่งแล้วจัดแสงเงาให้เน้นที่ไข่แดง และถ่ายในระยะใกล้ หรือที่เรียกว่า “โคลสอัพ (close up)” ก็จะทำให้ภาพของเราในอินสตาแกรมดูโดดเด่นจนต้องมีคนมาทักขอถามรายละเอียดเพิ่มเติม
คลิกเลย : https://lin.ee/rSI44iK