หากถาม 9 ใน 10 คน ว่าตั้งราคาอย่างไรให้ได้กำไร ... ส่วนใหญ่มักตอบว่า ให้คิดราคาขายจากต้นทุน แล้วบวกกำไรที่อยากได้เข้าไป นั่นแหละคือราคาขาย แต่รู้หรือไม่ว่าการตั้งราคาสามารถทำได้หลายแบบ และหากตั้งราคาไม่เหมาะสม อาจทำให้ “ขาดทุนกำไร”
มาถึงตรงนี้เริ่มงง ว่าจะขาดทุนหรือได้กำไรกันแน่ ที่บอกว่าขาดทุนกำไร หมายถึง สินค้าที่ตั้งราคาขายนั้น ยังได้กำไรอยู่ แต่ไม่ได้ราคาที่ดีหรือราคาสูงสุดที่ตลาดจะให้ได้ เช่น กล้วยตากอินทรีย์ ขายอยู่ที่ถุงละครึ่งกิโลกรัม ราคา 50 บาท แม้ว่าการขายในราคานี้จะได้กำไรแล้ว แต่เมื่อไปสำรวจความพึงพอใจในราคาของกล้วยตากที่คนในตลาดจะซื้อ ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจไปพูดคุยสอบถามกับคนรอบๆ ตัว หรือคนในหมู่บ้านของเราเองก็ได้ พบว่า ราคาสูงสุดที่ตลาดจะให้ได้ อยู่ที่ราคา 75 บาท ต่อถุง (ครึ่งกิโลกรัม) นั่นเท่ากับว่า “ขาดทุนกำไร” ไปถึง 25 บาท ต่อถุง เพราะคนส่วนใหญ่ในชุมชนให้คุณค่ากับผักผลไม้อินทรีย์ ที่มีความปลอดภัย ดังนั้น หากสินค้าใดที่รับประกันถึงแหล่งที่มาได้ว่า ผลิตจากพืชผักผลไม้ที่ปลูกโดยวิถีอินทรีย์ คนในชุมชนพร้อมจะยอมจ่าย
และยิ่งนำเสนอรายละเอียดที่แตกต่างจากกล้วยตากเจ้าอื่นได้อย่างชัดเจน ราคาที่คนซื้อพร้อมจะจ่ายก็สูงตามขึ้นไปด้วย เช่น กล้วยตากอินทรีย์ ผลิตจากกล้วยที่ปลูกแบบไร้สารเคมี 100% เป็นสูตรหวานน้อย เพื่อรักษาสุขภาพ และมีเทคนิคในการตากที่ทำให้เนื้อกล้วยตากนิ่มแทบละลายในปาก เหมาะสำหรับคนเฒ่าคนแก่ที่ทานได้แม้ฟันไม่ดี ... เมื่อลูกค้าได้รับข้อมูลรายละเอียดเช่นนี้ คุณค่าของกล้วยตากอินทรีย์ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากซื้อไว้ทานเองได้ ยังสามารถซื้อฝากคุณพ่อคุณแม่ที่สูงอายุให้ทานได้ด้วย เพราะเนื้อกล้วยตากไม่แข็งเหมือนเจ้าอื่นๆ ดังนั้น เมื่อนึกจะกินกล้วยตากขึ้นมาครั้งไหน ก็ต้องนึกถึงกล้วยตากอินทรีย์ของเราเป็นแน่
เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องลดราคา หรือตั้งราคาขายถูกๆ เพราะกลัวว่าคนจะไม่กล้าซื้อของที่มีราคา ทั้งนี้อาจดูความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบ เช่น กลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน การซื้อกล้วยตากอินทรีย์ในราคา 75 บาท อาจดูแพงไป ลองหาค่าเฉลี่ย จากข้อมูลที่สอบถามหลายๆ คน หรือลองหาค่าเฉลี่ยจากราคาสูงสุด และราคาต่ำสุดที่ตลาดจะให้ได้ ซึ่งอาจตั้งราคาขายในค่าเฉลี่ยที่ 60 บาท
ที่ถูกมากเกินไปไม่ใช่จะดีเสมอไป และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมนอกจากต้องถามราคาสูงสุดที่ตลาดจะให้แล้ว ยังต้องสอบถามราคาต่ำสุดที่ตลาดจะไม่ซื้อด้วย เพราะสินค้าบางประเภท ขายราคาถูกเกินไป ก็ทำให้ลูกค้าสงสัยว่าจะเป็นของปลอมหรือไม่ หรือใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำมาทำหรือเปล่า เลยทำให้ขายได้ถูกๆ กลายเป็นราคาที่ขายถูกเกินไป ทำให้คนไม่อยากซื้อ
ดังนั้น ในการตั้งราคาขาย นอกจากกำไรที่เราอยากได้ ควรตั้งราคาจากการหาค่าเฉลี่ยจากราคาสูงสุดที่ตลาดจะให้ได้ คิดง่ายๆ จากการสำรวจข้อมูล ลองถามคนในหมู่บ้าน หรือเดินสำรวจตลาด เพื่อเปรียบเทียบราคากับสินค้าประเภทเดียวกัน แต่อย่าลืมสำรวจราคาต่ำสุดที่ตลาดจะให้ด้วย ที่สำคัญ การบอกจุดเด่นของสินค้าที่แตกต่างจากเจ้าอื่น และเรื่องเล่าของสินค้านั้น จะทำให้ราคาขายสูงขึ้นตามไปด้วย
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #GoDigitalASEAN #พัฒนาศักยภาพ #ความรู้ด้านการตลาด #ทักษะดิจิทัล #การตลาดออนไลน์ #การตั้งราคา