โซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ช่วยให้สามารถเริ่มต้น ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมาก ใครๆ ก็เปิดร้านออนไลน์ได้ แต่เมื่อการขายของออนไลน์สร้างรายได้ แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษี ซึ่งที่จริงแล้วเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากทำความเข้าใจ และรู้จักวิธีบริหารจัดการอย่างถูกต้อง
ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน ?
ทำความเข้าใจกันก่อนว่าการขายของออนไลน์นั้นหากไม่ได้มีการเปิดหรือจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท จะถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการค้าขาย และช่วงเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าต้องยื่นภาษีจะมีอยู่ 2 ช่วง ดังนี้ 1.ยื่นภาษีสิ้นปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 2.ยื่นภาษีกลางปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. เป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวจะลดลงจาก 30,000 เหลือ 15,000 บาท
วิธีคำนวณภาษี ?
สำหรับการขายของออนไลน์เสียภาษีอยู่ 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีเงินได้นั้นจะเสียตามรูปแบบของธุรกิจ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องตอบให้ได้ก่อนเลย ว่าเราเป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนเรียบร้อยแล้ว หากเราเป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ ก็จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ก็จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นเอง
ซึ่งการคำนวณภาษีรายได้แบบบุคคลธรรมดานั้น โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีวิธีการคำนวณ 2 วิธี คือ
วิธีแรก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ตามอัตราขั้นบันได
การหักค่าใช้จ่ายในวิธีแรกสามารถทำได้ 2 แบบ
1. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาๆ ได้ 60% ของรายได้
2. หักตามจริง ถ้าใช้วิธีนี้อย่าลืมทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเก็บหลักฐานไว้
วิธีที่สอง คือ เงินได้ x 0.5% โดยจะใช้วิธีที่ 2 นี้ เมื่อเรามีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี แล้วนำไปเปรียบเทียบกับวิธีแรก เพื่อเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
ในส่วนของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้นจะดูที่รายได้ของเรา ถ้าเรามีรายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT โดยเสียภาษีอยู่ที่ 7% ของรายได้ ที่สำคัญคือจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท แต่สำหรับพืชผลทางการเกษตร สัตว์ ตำราเรียน ส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยหากมีภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการก็ต้องยื่นภาษีทุกๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก “ใบกำกับภาษี” ด้วย
การเตรียมตัวสำหรับคนที่กำลังจะเปิดร้านขายของออนไลน์
3 ขั้นตอนเบื้องต้นในการรับมือจัดการกับเรื่องภาษีและการเงินที่อยากแนะนำ มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 จดบันทึกรายการซื้อ-ขายสินค้า เพื่อนำมาใช้ในการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายขึ้นมาก
ขั้นตอนที่ 2 เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน นอกจากจะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีเราแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายฉบับใหม่ล่าสุด สำหรับร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะที่มีชื่อว่า “ภาษีอีเพย์เมนต์” ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยกำหนดให้ทางสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของร้านค้าให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ เมื่อมีเงื่อนไขดังต่อไป
1. เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดฝากต่อครั้ง หรือยอดรวมทั้งหมดจะเป็นกี่บาทก็ตาม
2. เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาและติดตามข่าวสารทางด้านการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปี
มาถึงตรงนี้ คงเริ่มเข้าใจเรื่องภาษีกันกระจ่างมากขึ้น ซึ่งหากเราเริ่มศึกษาและวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้วางแผนการออมได้ และไม่เสียเงินโดยใช่เหตุไปกับความไม่รู้ของเรา
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #GoDigitalASEAN
#พัฒนาศักยภาพ #ความรู้ด้านการตลาด #ทักษะดิจิทัล #การตลาดออนไลน์ #ภาษีขายของออนไลน์