Google Trends หรือ กูเกิล เทรนดส์ เป็นเครื่องมือของ Google ที่ช่วยให้เราทราบว่าในปัจจุบัน หรือในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น มีเรื่องอะไรที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยากรู้ และมีเรื่องอะไรที่กำลังเป็นเทรนด์หรือเป็นที่นิยม นอกจากนั้นเรายังช่วยให้สามารถตรวจสอบได้อีกว่าคำค้นหาสำคัญ หรือ คีย์เวิร์ด (Keyword) ที่เราอยากใช้ ตรงใจกับความต้องการของลูกค้าหรือเปล่า โดย กูเกิล เทรนดส์ จะแสดงผลลัพธ์ออกมาให้เราเห็นว่า “คำหรือประโยคที่ใช้ในการค้นหา” ของเราเป็นที่นิยมหรือไม่ โดยแสดงผ่านสถิติที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตค้นหาคำหรือประโยคนั้นๆ บนกูเกิล
การใช้งานสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://trends.google.co.th ซึ่งจะมีแถบค้นหา ที่เราสามารถพิมพ์คำค้นหาของเราเข้าไปได้เลย ความพิเศษก็คือในการค้นหานั้นสามารถระบุสถานที่ และกรอบระยะเวลาได้ว่าต้องการให้แสดงผลในระยะเวลาสั้นหรือยาวแค่ไหน โดยมีแถบเมนูให้เลือก
ตัวอย่างเช่น ค้นหาคำว่า “ผักอินทรีย์” ว่าเป็นที่นิยมในการค้นหาบนกูเกิลมากแค่ไหน ในประเทศไทย ระบุผลการค้นหาในระยะเวลา 1 ปีที่่ผ่านมา และนอกจากนั้นยังสามารถเลือกหมวดหมู่ (Category) ที่ต้องการค้นหาได้ด้วย เช่น ค้นหาในหมวดหมู่อาหาร งานอดิเรก สุขภาพ ซึ่งเราสามารถระบุคำค้นหาเจาะลึกผลลัพธ์ได้ในระดับภูมิภาคย่อย (Subregion) เพื่อให้เรารู้ถึงความนิยมแบบเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งความสามารถที่น่าสนใจ คือการแสดงผลให้เราเห็นว่า ณ ปัจจุบัน มีหัวข้อ หรือ คำค้นหาอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหา จากตัวอย่างคือคำว่า “ผักอินทรีย์” โดยจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. Related Topic : หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้งาน
2. Related Queries : ชุดคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้งาน
ซึ่งในการแสดงผลของทั้งสองส่วน กูเกิล เทรนดส์ จะให้เราเลือกได้ 2 ตัวเลือกว่าจะแสดงเป็นผลลัพธ์แบบไหน ได้แก่
1. Top : หัวข้อหรือคำค้นหาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยหัวข้อหรือคำที่มีการค้นหาสูงสุด จะมีเลขอยู่ที่ 100 ซึ่งคำอื่น ๆ ที่ตามมาจะเป็นจำนวนการค้นหาที่เทียบกับคำที่ได้รับความนิยมสูงสุด เช่น คำที่ได้ 50 แปลว่า คำหรือหัวข้อนี้มีความนิยมเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ของคำหรือหัวข้ออันดับหนึ่ง
2. Rising : หัวข้อหรือคำค้นหาที่มียอดการเติบโตของจำนวนการค้นหาสูงสุดในช่วงเวลานั้น
ไม่เพียงแค่นั้น แต่เรายังสามารถนำคำค้นหาที่เราต้องการเลือก มาวัดกันเพื่อช่วยในการตัดสินใจได้อีกด้วย เช่น จากตัวอย่างแรกใช้คำว่า “ผักอินทรีย์” และลองใช้คำเปรียบเทียบเป็นคำว่า “ผักสลัด” เพื่อดูว่าคำไหนเป็นที่นิยมในหมู่คนทานผัก ที่ค้นหาคำเหล่านี้บนโลกโซเชียลบ้าง โดยจากแถบคำค้นหาของทั้ง 2 คำ กูเกิล เทรนดส์ จะแสดงผลออกมาโดยแบ่งเป็นกราฟเส้น 2 สี ซึ่งในที่นี้คำหลักคือคำว่า “ผักอินทรีย์” จะแสดงผลเป็นกราฟเส้นสีน้ำเงิน ส่วนคำค้นหาที่ต้องการเปรียบเทียบ ในที่นี้คือคำว่า “ผักสลัด” จะแสดงผลเป็นกราฟเส้นสีแดง ทำให้เราทราบว่าคำหรือหัวข้อใดเป็นที่นิยมและถูกค้นหาบนโลกโซเชียลมากกว่ากัน ซึ่งเมื่อลองเปรียบเทียบดู พบว่า คำว่า “ผักสลัด” ติดเทรนด์หรือเป็นที่นิยมมากกว่า ดังนั้นเมื่อเราทราบข้อมูลเช่นนี้ หากเราขายผักสลัดอยู่แล้ว ต่อไปเราอาจติดคำค้นหา หรือแฮชแท๊กว่า “ผักสลัด” แทนคำว่าผักอินทรีย์ เพื่อให้ผู้คนหรือลูกค้าในอนาคตพบกับสินค้าของเราได้ง่ายขึ้น หรือในการสร้างเนื้อหาเพื่อนำเสนอเรื่องราวของสินค้า เราก็สามารถเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผักสลัด เพื่อเพิ่มผู้ติดตามผ่านเทรนด์หรืออันดับยอดนิยมได้ด้วย สุดท้ายนี้อาจยังไม่เห็นภาพ จนกว่าจะลองเข้าไปลองใช้เครื่องมือ กูเกิล เทรนดส์ แล้วนำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อให้การขายที่เคยซบเซา กลับมามียอดติดตามและยอดขายปังๆ กันทุกคน
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #GoDigitalASEAN #พัฒนาศักยภาพ #ความรู้ด้านการตลาด #ทักษะดิจิทัล #การตลาดออนไลน์