เมื่อรู้จัก Google Trends หรือ กูเกิล เทรนดส์ กันแล้ว จะนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการขายสินค้าออนไลน์ได้อย่างไร มาเรียนรู้ 6 เทคนิคการใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) สร้างเนื้อหาให้ตรงใจลูกค้ากันดีกว่า
เทคนิคที่ 1 การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) ในการเลือกหัวข้อ และ Keyword (คำสำคัญ) แบ่งได้เป็น 2 เทคนิคย่อย ดังนี้
1.1. เลือกหัวข้อ หรือ Keyword (คำสำคัญ) ด้วย Related Queries (ชุดคำถามที่เกี่ยวข้อง) และ Related Topic (หัวข้อที่เกี่ยวข้อง)
ตัวอย่าง ชุดคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ของคำว่า “เสื้อผ้าผู้หญิง” ใน Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) หากเราเป็นร้านค้าขายเสื้อผ้าฝ้าย และต้องการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเสื้อผ้าผ้ายของผู้หญิง เราสามารถค้นหาด้วยคำว่า “เสื้อผ้าผู้หญิง” เพื่อเปรียบเทียบกับคำว่า “เสื้อผ้าฝ้าย” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกหัวข้อที่จะสร้างเนื้อหาเพื่อขายสินค้า ซึ่งเมื่อค้นหาจะพบว่า “เสื้อผ้าผู้หญิง” มีการค้นหาหรือติดอันดับคำค้นหายอดนิยมมากกว่าคำว่า “เสื้อผ้าฝ้าย” ดังนั้น สามารถนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับใช้เป็นเนื้อหาที่ใช้โพสต์เนื้อหาลงแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เช่น “เสื้อผ้าฝ้าย 1 ใน 5 ชุดที่ต้องมีติดตู้สำหรับผู้หญิง” เป็นต้น
1.2 เทคนิคการตัดสินใจเลือกหัวข้อ และ Keyword (คำสำคัญ) ที่ใช่ด้วยการเปรียบเทียบ
การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) ทำให้เราได้ตัวเลือกที่ดี ในการนำคำไปใช้เป็นหัวข้อในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้า โดยได้จากการเปรียบเทียบระหว่างคำ 2 คำ เช่น แม่ค้าที่ขายชุดผ้าฝ้ายพื้นเมือง ต้องทำการตัดสินใจเลือกใช้ระหว่างคำว่า “ผ้าฝ้าย” หรือ “ผ้าฝ้ายพื้นเมือง” ซึ่งในกรณีนี้เมื่อทำการเปรียบเทียบด้วย Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) จะเลือกใช้คำว่า “ผ้าฝ้าย” เพราะได้รับความนิยมในการค้นหามากกว่า
เทคนิคที่ 2 การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) เพื่อวางแผน Content (เนื้อหา)
สามารถใช้เพื่อดูภาพรวมของความนิยมหัวข้อ และ Keyword (คำสำคัญ) ที่เราสนใจได้ ซึ่งสำหรับบางหัวข้อ ความนิยมจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการเปิด Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) เพื่อดูว่าจะได้รับความนิยมในช่วงไหนของปี เช่น คำว่า “เสื้อกันหนาว” ที่มีความนิยมในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกปลายปีที่อากาศเย็น การแสดงผลของคำว่า “เสื้อกันหนาว” ใน Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) โดยลองเลือกแสดงข้อมูลในกรอบที่กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมา แล้วหากเราเป็นร้านค้าขายเสื้อผ้า เราก็สามารถวางแผนได้ว่าปลายปีจะต้องมี Content (เนื้อหา) ที่เกี่ยวข้องกับ “เสื้อกันหนาว”
เทคนิคที่ 3 การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) เพื่อสร้าง Content (เนื้อหา) เกาะกระแสปัจจุบัน
หากเราต้องการที่จะเกาะกระแส เพื่อเพิ่ม Engagement (การมีส่วนร่วม) การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) ก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้ตัว ทุกๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือน คือคำว่า “ล็อตเตอรี่” หากเราขายปลาส้ม จะสร้างเนื้อหาให้เกี่ยวข้องกับล็อตเตอรี่ได้อย่างไร ซึ่งเราอาจเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับการพลาดรางวัลล็อตเตอรี่ เช่น “ถึงจะพลาดล็อตเตอรี่ แต่ยังมีของดีได้อิ่ม สนใจปลาส้มสูตรดั้งเดิม สั่งได้เลยวันนี้”
เทคนิคที่ 4 การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) เพื่อความสดใหม่ของ Content (เนื้อหา)
บางครั้ง Keyword (คำสำคัญ) ที่ใช้ อาจไม่ใช่คำที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสนใจจากการเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถึงแม้เนื้อหาจะดี แต่ถ้าคำสำคัญไม่เป็นที่นิยม ก็อาจจะทำให้ Content (เนื้อหา) ของเราถูกกลบทับไปด้วย Content (เนื้อหา) อื่นๆ ดังนั้นวิธีการหนึ่ง คือการหมั่นเข้าไปตรวจสอบ Keyword (คำสำคัญ) ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานั้นๆ แล้วคอยดูว่าจำเป็นที่จะต้องปรับเนื้อหาหรือไม่ เพื่อเพิ่มความสดใหม่ ให้เนื้อหาของเราน่าสนใจและติดอันดับการค้นหาอยู่เสมอ
เช่น ในช่วงเวลาหนึ่ง คำสำคัญที่ถูกค้นหา “ต้นไม้ปลูกในบ้าน” เคยเป็นที่นิยม แต่ปัจจุบันกลายเป็นคำว่า “ต้นไม้ฟอกอากาศ” ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำนี้จะติดอันดับหรือเป็นที่นิยมไปในระยะยาว เนื่องจากยังมีปัญหาฝุ่น PM2.5 เราก็อาจจะนำเนื้อหาเก่าของเรามาปรับได้ ด้วยความที่เนื้อหาด้านในอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน เช่น เราเป็นร้านขายต้นไม้ออนไลน์ แล้วมีเนื้อหาเก่าที่เคยโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ในหัวข้อว่า “5 อันดับต้นไม้ปลูกในบ้านที่น่าสนใจ” เราอาจสามารถเปลี่ยนหัวข้อ และปรับเนื้อหาไปเป็น “5 อันดับต้นไม้ฟอกอากาศ” เป็นต้น
เทคนิคที่ 5 การใช้ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) เพื่อสร้าง Content (เนื้อหา) ช่วยลูกค้าตัดสินใจ
การใช้ผลที่ได้จาก Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) เพื่อเอาไว้วางแผนสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อยอดขายที่จะทำได้มากขึ้น โดยลองใช้คำสำคัญในการค้นหาที่เกี่ยวกับสินค้า เพื่อดูว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับอะไรได้บ้าง เช่น หากเราเป็นร้านค้าขายไข่เค็มออนไลน์ ลองค้นหาคำว่า “ไข่เค็ม” ใน Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) แล้วไปดูผลลัพธ์ในส่วนของ Related Queries หรือชุดคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้งาน โดยจะปรากฎผลลัพธ์ให้เรารู้ว่าลูกค้ากำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไข่เค็มในเรื่องใดบ้าง ซึ่งจากตัวอย่างนี้จะปรากฎผลลัพธ์ เช่น วิธีการทำไข่เค็ม โมจิไข่เค็ม ขนมเปี๊ยะไข่เค็ม เปี๊ยะไข่เค็มลาวา สิ่งที่เราสามารถทำต่อไป นั่นคือการเขียนเนื้อหาที่เปรียบเทียบ หรือแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงจุดเด่นที่เหนือกว่าของไข่เค็มของเรา ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าที่กำลังค้นหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจซื้อไข่เค็ม ตัดสินใจซื้อไข่เค็มร้านเราได้ง่ายขึ้น
เทคนิคที่ 6 การดูตำแหน่งของคนที่สนใจ เพื่อใช้สร้าง Content (เนื้อหา) แบบเฉพาะ
การแสดงผลความนิยม ในการค้นหาแบบ Subregion (ภูมิภาคย่อย) ของ Google Trends (กูเกิล เทรนดส์) ยิ่งทำให้เราเห็นชัดว่าจังหวัดใดที่มีคนสนใจสินค้าของเรา เช่น Keyword (คำสำคัญ) คำว่า “ข้าวหอมมะลิ” ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเราค้นหาจะพบว่าจังหวัดที่มีผู้ค้นหาสูงสุดคือ จังหวัดสุรินทร์ ดังนั้น เราสามารถเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “ทำไมข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดปลูกที่จังหวัดสุรินทร์” เป็นต้น เป็นการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสปิดการขายได้นั่นเอง
และอย่างที่ย้ำกันทุกครั้ง ว่าทฤษฎีจะไม่เกิดผลลัพธ์ใดๆ หากไม่นำไปทดลองปฏิบัติ และปรับใช้ให้เหมาะกับต้นทุนเดิมที่เรามีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองเข้าไปที่ https://trends.google.co.th ได้เลย เพราะตลาดอยู่ในมือของเราทุกคน
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #GoDigitalASEAN