โพสต์ขายสินค้าตามกระแสหรือเทศกาล ก็ทำให้งานเข้าปังๆ ได้นะคะ
ลองวางแผนการเขียนเนื้อหาในการขายสินค้าตามเทศกาล ก็ทำให้เนื้อหานั้นมีความสดใหม่
เข้ากับเทศกาลในช่วงนั้นๆ เช่น เดือนกุมภาพันธ์ มีทั้งวันตรุษจีน วาเลนไทน์
เราก็สามารถเขียนเนื้อหาให้เข้ากับสินค้า และผูกเรื่องราวเข้ากับเทศกาลได้
เช่น วาเลนไทน์นี้มีของขวัญดีๆ ให้คนที่คุณรักหรือยัง แล้วโพสต์ขายผ้าพันคอทอมือ
หรือจะหักมุมขายของให้กับคนโสดในช่วงวาเลนไทน์ก็ยังได้
เช่น ใครโสดโปรดบอก ไม่มีคนกอด ให้ผ้าพันคอทอมือของเราไปกอดแทนนะ
สินค้าของเราก็ขายได้แบบเนียนๆ ในขณะเดียวกัน เราอาจจัดโปรโมชั่นเกี่ยวกับสินค้าได้ด้วย
เช่น วาเลนไทน์นี้ใครซื้อเป็นคู่ รับส่วนลด 15% หรือจะสวนกระแสเทศกาลแห่งความรัก
ด้วยการสร้างโปรโมชั่นว่า ใครไม่มีคู่ เราอยู่เป็นเพื่อน โปรสำหรับคนโสด
ซื้อสินค้าในเดือนแห่งความรัก ส่งฟรี
นอกจากการสร้างเนื้อหาหรือทำแผนโปรโมชั่นตามเทศกาลสำคัญแล้ว
เรายังสามารถสร้างตามกระแสนิยม ที่เป็นสถานการณ์ที่ถูกพูดถึงในช่วงนั้น
เราก็เอามาใช้เป็นลูกเล่นได้ เช่น ช่วงนี้มีกระแสแอปพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์
ที่มีการเปิดห้องสนทนาเพื่อพูดคุยในประเด็นต่างๆ นึกภาพตาม เหมือนตั้งห้องมาเม้าท์กัน ซึ่งเราอาจเกาะกระแสนี้มาเขียนเนื้อหาสินค้าให้ร่วมสมัยได้ เช่น ถ้าเราขายไข่เค็ม
อาจตั้งคำถามเล่นๆ ว่า “ถ้าแม่บ้านเปิดห้อง คิดว่าแม่บ้านจะเอาไข่เค็มไปทำเมนูอะไร?”
แต่ทั้งนี้ การทำแผนโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลหรือทันกระแสตามสถานการณ์ช่วงต่างๆ
ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่การหั่นราคา ไม่ใช่การแถมกระจาย เพราะอย่างที่เคยย้ำเสมอว่า “โปรโมชั่น ไม่ใช่ การลดแลกแจกแถม” แต่โปรโมชั่นเป็นการทำให้สินค้าหรือร้านค้า
ของเราน่าสนใจ ด้วยเทคนิคต่างๆ ซี่งมีหัวใจของการทำโปรโมชั่น 3 เทคนิคด้วยกัน คือ
1. การพูดใหม่
การพูดถึงสินค้าเดิม เพิ่มเติมด้วยเนื้อหาใหม่ๆ ใส่ความทันสมัยตามกระแสเข้าไป
ก็ทำให้ได้โฆษณาสินค้าชิ้นใหม่ หรือเนื้อหาของสินค้าในมุมใหม่ๆ มาโพสต์ขาย
2. การพูดบ่อย
การนำเสนอเรื่องราวของสินค้าอย่างมีความถี่ ที่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการขายของออนไลน์
การโพสต์ถึงสินค้าหรือร้านค้าของเราเป็นประจำ มีผลต่อการรับรู้ ความนิยมชมชอบ
กระตุ้นความสนใจของลูกค้า ทั้งที่เป็นลูกค้าประจำ และลูกค้าในอนาคต
ไม่ใช่โพสต์ครั้งนึงแล้วหายไปอีก 3 วัน ค่อยกลับมาโพสต์อีกครั้ง
อาจทำให้สินค้าประเภทเดียวกันของร้านอื่น ทำคะแนนนิยมกับลูกค้า
ที่กำลังสนใจสินค้าแบบเดียวกัน ตัดหน้าสินค้าจากร้านเราได้
3. การพูดให้ดัง
การให้คนที่มีชื่อเสียง เน็ตไอดอล ผู้มีอิทธิพลบนโซเชียล มีเดีย
หรือที่เรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ - Influencer เป็นคนนำเสนอสินค้า
ในหลายครั้งสามารถสร้างความน่าสนใจมากกว่าตัวเจ้าของสินค้าเป็นคนพูดเองด้วยซ้ำ
เหมือนกับการโฆษณาในทีวี ก็นิยมใช้ดารานักแสดงมีชื่อเสียงมาโฆษณาร่วมกับสินค้า
โดยให้ อินฟลูเอนเซอร์ เป็นผู้ที่ทำคอนเทนต์ หรือเนื้อหาของสินค้า
เผยแพร่ตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก - Facebook, ยูทูบ - YouTube
ยิ่งอินฟลูเอนเซอร์มีผู้ติดตามมากก็ยิ่งมีอิทธิพลในโลกโซเชียลมาก
นั่นย่อมมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นความอยากซื้อ อยากทดลองใช้ตามได้มาก
แต่นั่นหมายความว่า ต้องใช้งบประมาณในการจ้างอินฟลูเอนเซอร์มากเช่นกัน
ดังนั้น ลองเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะ และสอดคล้องกับงบในกระเป๋าสตางค์ แล้วปรับใช้
ก่อนถึงเทศกาลต่อไป ลองเปิดปฏิทินดูสักหน่อย แล้ววางแผนโปรโมชั่นล่วงหน้า
ด้วย “การพูดใหม่” “พูดบ่อย” “พูดให้ดัง” กันนะคะ
รับข่าวสารได้ที่ https://lin.ee/rSI44iK
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #การตลาดออนไลน์