ในยุคที่โลกเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็ว พฤติกรรมของคนซื้อสินค้าก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะฉะนั้น โกดิจิทัลอาเซียนไทย ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ทุกคนลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกระแสการตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน เพื่อให้ยอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยวันนี้ขอแนะนำตัวอย่างการพัฒนาสินค้าชุมชน เพื่อสร้างตัวตนบนตลาดออนไลน์ จากกรณีศึกษาของบ้านดอนย่านาง ที่จะชวนทุกคนมา “ตำสาด” กันค่ะ
สำหรับพี่น้องชาวอีสานคงคุ้นเคยกับคำว่า “ตำสาด” หรือการทอเสื่อนั่นเอง ซึ่งเสื่อของหมู่บ้านดอนย่านาง จังหวัดบึงกาฬ เดิมทอกันแบบเรียบง่าย ขายกันผืนละ 100 บาทเท่านั้น เน้นสีสันสดใสฉูดฉาด ตามเอกลักษณ์ที่สนุกสนานของคนภาคอีสาน โดยวางขายภายในหมู่บ้าน แต่หลักจากมีการปรับตัวให้ทันตามกระแสการขายของออนไลน์ ในยุคที่สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มติดขัด จึงมองเห็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการขายเสื่อทอมือ ด้วยการเริ่มย้ายตัวเองไปขายบนเพจเฟซบุ๊ก และโพสต์ขายเสื่อในกลุ่มเฟซบุ๊กที่เปิดให้ผู้ขายโพสต์ขายสินค้าได้ฟรี
แต่การขายออนไลน์ให้โดนใจผู้คนบนโลกออนไลน์นั้น มีความแตกต่างจากการวางขายภายในหมู่บ้าน เพราะสีสันที่ฉูดฉาดอาจตรงใจสำหรับคนบางกลุ่ม แต่คนที่อยู่บนโลกโซเชียลส่วนใหญ่มักเป็นคนเมือง ที่สังเกตได้ว่าสนใจในเรื่องการแต่งบ้าน และการแต่งบ้านในยุคนี้ มักเน้นสีสันที่เคร่งขรึม และเป็นสีพื้นๆ มากกว่าการเล่นสีและลวดลายแบบเดิม และจากการสังเกตพฤติกรรมการซื้อของแต่งบ้านของคนในโลกออนไลน์นี้เอง ที่ทำให้คุณป้าคุณยายที่ทอเสื่อ ต้องกลับมาคุยกันใหม่ ว่าจะผลิตเสื่อกันแบบไหน ให้ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการซื้อเสื่อไปแต่งบ้าน
หลังจากที่มีการสังเกต และรวบรวมข้อมูล สาวๆ ชาวบ้านดอนย่านางจึงได้หันมาคุยกัน แล้วได้ข้อสรุปว่าต้องมี “การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า” และ “กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน” และเมื่อคิดแล้ว ต้องลงมือทำทันที ดังนั้น จึงเกิดการตำสาดในรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยเน้นสีสันที่เข้มและให้อารมณ์เคร่งขรึม มีความเรียบง่าย ไม่เน้นลวดลาย เช่น สีเขียวเข้ม สีน้ำตาล สีครีม สามารถนำไปแต่งบ้าน เข้าได้กับเฟอร์นิเจอร์ทุกสไตล์ ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สีเรียบๆ เช่น ดำ ขาว น้ำตาล ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อเสื่อดอนย่านางเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น เพราะไม่ต้องคิดว่าหากเอาเสื่อสีนี้ไปวางในห้องรับแขก จะดูโดดจากเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ของห้องหรือไม่
และนอกจากการทอเสื่อผืนใหญ่ที่ไว้ใช้ปูนั่งอย่างเดียว ก็ปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับการใช้ชีวิตในแต่ละวันของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เช่น การทอเสื่อผืนเล็ก ให้เป็นที่รองจาน การเพิ่มวัสดุเบาะรองนั่งเข้ามา เหมาะสำหรับคนที่นั่งทำงานสบายๆ อยู่ที่บ้าน จะนั่งเอนหลังดูซีรี่ย์ก็ทำได้ เรียกได้ว่าตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเจาะจงมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าสินค้าที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้งาน ความชอบ ของกลุ่มเป้าหมาย ย่อมทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว ที่สำคัญจากเสื่อธรรมดาๆ ผืนละ 100 บาท ก็สามารถสร้างคุณค่าและขยับราคามาอยู่ที่ผืนละ 400-500 บาทได้อย่างสบายๆ และที่ขาดไม่ได้ คือการสื่อสารเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการตำสาด ก็มีผลต่อการรับรู้ราคาของคนซื้อด้วยเช่นกัน ซึ่งคราวหน้าจะมาเจาะลึกถึงเทคนิคการเล่าเรื่องกันค่ะ และทั้งหมดนี้ก็คือตัวอย่างของการพัฒนาสินค้าชุมชน ให้กลายเป็นมาเป็นดาวเด่นบนตลาดออนไลน์ ซึ่งเริ่มจากการปรับปรุงสินค้าที่มีอยู่ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนนั่นเอง
รับข่าวสารได้ที่ https://lin.ee/rSI44iK
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #การตลาดออนไลน์