วันนี้ยังอยู่กับเรื่องราวของการตำสาด บ้านดอนย่านาง จ.บึงกาฬ กันต่อ เพื่อชวนเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาสินค้าชุมชน เพื่อสร้างตัวตนบนตลาดออนไลน์ ซึ่งนอกจากคุณป้าคุณย่าคุณยายได้พูดคุยกัน จนได้ข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะมีการปรับปรุงสีสันและรูปแบบการใช้งานของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ที่มุ่งเน้นไปที่ตลาดออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มีความชอบในเรื่องสีสันที่เคร่งขรึม เช่น สีเขียวเข้ม สีน้ำตาล สีครีม เพื่อสามารถนำไปแต่งบ้านได้ง่าย เข้าได้กับเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่แล้ว และปรับรูปแบบการใช้งานให้เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันได้หลากหลายขึ้น เช่น ทำเป็นเสื่อรองจาน เบาะรองนั่ง ซึ่งได้รับการตอบรับดีทีเดียว
และสิ่งที่ชาวบ้านดอนย่านางปรับตัวให้เข้ากับการตลาดออนไลน์ จนเห็นผลลัพธ์ที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ นั่นคือการเล่าเรื่องกระบวนการผลิตเสื่อธรรมชาติทอมือ ที่ทำให้คนมองเห็นคุณค่าของเสื่อบ้านดอนย่านาง จนขยับราคาขายจากเสื่อผืนละ 100 บาท มาเป็นผืนละ 400 – 500 บาท อย่างไม่มีใครคลางแคลงใจ เพราะเรื่องเล่าของชาวบ้านดอนย่านาง สื่อสารให้เห็นแล้วว่ากว่าจะได้เสื่อมาแต่ละผืน ต้องผ่านขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และพิถีพิถัน
จากเดินคนซื้อ - คนขาย ที่ไม่เคยเจอหน้ากัน กลับรู้สึกอยู่ใกล้กันมากขึ้นผ่านเรื่องเล่า ที่เล่าตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัสดุที่ทำมาใช้ทอเสื่อ เพราะหญ้าแต่ละชนิดให้เส้นใยที่มีความเหนียว ความคงทนแตกต่างกัน และชนิดของหญ้าที่เลือกนำมาใช้ยังส่งผลต่อขั้นตอนการย้อมสีอีกด้วย ซึ่งการย้อมสีด้วยวิธีตามแบบฉบับของชาวบ้าน ต้องผ่านการย้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้สีเข้มตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า ที่ตั้งเป้าไว้แล้วว่าต้องการขายเสื่อให้กับคนเมืองที่รักการแต่งบ้าน ซึ่งผ่านการสำรวจและรวบรวมข้อมูลมาแล้วว่าคนกลุ่มนี้ชอบสีเข้มๆ เรียบๆ เพราะฉะนั้นสีที่ขายดีของเสื่อบ้านดอนย่านาง คือสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับหญ้านาง และแน่นอนว่าเมื่อลูกค้าได้อ่านเรื่องเล่าที่โพสต์ไปยังเพจเฟซบุ๊ก ที่เปรียบเหมือนหน้าร้าน ย่อมเข้าใจได้ว่ากว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนมีความละเมียดจริงๆ ซึ่งแตกต่างจากการย้อมสีวัสดุสังเคราะห์ที่ย้อมสีได้ง่ายกว่า จึงเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อเสื่อที่เขาเห็นแล้วว่ามีความตั้งใจของคนทำอยู่ในนั้น ซึ่งควรค่าแก่การซื้อเสื่อบ้านดอนย่านางในราคาที่ต่างจากเสื่อรูปแบบเดิมถึง 5 เท่า
จะเห็นได้ว่าเทคนิคการเล่าเรื่องนี้ มีผลต่อการรับรู้ราคา เพราะเรื่องเล่าเป็นการบอกเล่าคุณค่าของสินค้านั้น ซึ่งในสินค้าชิ้นเดียวกันนั้น สามารถบอกเล่าได้หลายแง่มุม และไม่จำเป็นต้องเล่ากระบวนการผลิตทั้งหมดในโพสต์เดียวก็ได้ เช่น เล่าถึงที่มาและความตั้งใจในการรวมตัวกันทอเสื่อธรรมชาติด้วยวิธีทำมือของกลุ่มบ้านดอนย่านาง เล่าถึงการเลือกชนิดของหญ้าที่ให้คุณสมบัติที่แตกต่างกัน เรื่องเล่าเกี่ยวกับขั้นตอนการย้อมสี ที่มีความยากลำบากของการย้อมสีแบบทำมือ และต้องใส่ใจมากกว่าการย้อมสีด้วยวัสดุสังเคราะห์แบบการผลิตจากโรงงาน หรือจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับลวดลายการทอ ที่แฝงไว้ด้วยความหมายของคนทอเสื่อ ทั้งหมดนี้เราสามารถวางแผนและค่อยๆ ทยอยปล่อยเรื่องเล่าให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักสินค้าของเรามากขึ้น หวังว่าคงจะได้ไอเดียในการเล่าเรื่องกันไปบ้าง วันนี้ลองมองหาจุดเด่น จุดดี ของสินค้าเรา แล้วนำมาเล่าในโลกออนไลน์กันนะคะ
รับข่าวสารได้ที่ https://lin.ee/rSI44iK
#โกดิจิทัลอาเซียนไทย #การตลาดออนไลน์